วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สมเด็จพระสุริโยทัย


สมเด็จพระศรีสุริโยทัย หรือ พระสุริโยทัย วีรสตรีไทยสมัยอยุธยา เป็นอัครมเหสีใน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิหรือพระเฑียรราชา พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๕ ของกรุงศรีอยุธยาราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระสุริโยทัย ตามพงศาวดารหลวงประเสริฐฯ กล่าวเพียงแค่เป็นอัครมเหสีผู้เสียสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องพระราชสวามี ในสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ในปี พ.ศ. ๒๐๙๑ พงศาวดารบางฉบับ กล่าวว่า พระสุริโยทัย เป็นเจ้านายเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย โดยมิได้กล่าวรายละเอียดใดมากกว่านี้

พระราชประวัติ
สมเด็จพระสุริโยทัยสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์พระร่วง ดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในขณะที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาต่อจากขุนวรวงศาธิราชได้เพียง ๗ เดือน

เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระมหาอุปราชาบุเรงนองยกกองทัพพม่ารามัญเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก โดยผ่านมาทางด้านด่านพระเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรีและตั้งค่ายล้อมพระนคร การศึกครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือถึงวีรกรรมของ สมเด็จพระศรีสุริโยไท ซึ่งไสช้างพระที่นั่งเข้าขวางพระเจ้าแปรด้วยเกรงว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชสวามี จะเป็นอันตราย จนถูกพระแสงของ้าวฟันพระอังสาขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง เพื่อปกป้องพระราชสวามีไว้ เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีจุลศักราช ๙๑๐ ตรงกับวันเดือนปีทางสุริยคติ คือ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๐๙๒ เมื่อสงครามยุติลง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงปลงพระศพของพระนางและสถาปนาสถานที่ปลงพระศพขึ้นเป็นวัด ขนานนามว่า วัดสบสวรรค์ หรือวัดสวนหลวงสบสวรรค์


เจดีย์พระศรีสุริโยทัย บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระศรีสุริโยทัย




พระราชโอรสและพระราชธิดา
สมเด็จพระสุริโยทัย มีพระราชโอรส-พระราชธิดา ๕ พระองค์ ซึ่งน่าจะเรียงลำดับดังนี้

พระราเมศวร พระราชโอรสองค์โต ถูกจับเป็นองค์ประกันแก่พม่า และสิ้นพระชนม์ระหว่างไปหงสาวดี
พระมหินทร์ พระราชโอรสองค์รอง ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระมหินทราธิราช กษัตริย์องค์สุดท้ายก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ ใน พ.ศ. ๒๑๑๒
พระสวัสดิราช พระราชธิดา ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระวิสุทธิกษัตรีย์ อัครมเหสีในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและเป็นพระชนนีของพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ
พระบรมดิลก พระราชธิดา เสียพระชนม์ชีพพร้อมพระมารดาในสงครามคราวเสียพระสุริโยไท
พระเทพกษัตรี พระราชธิดา ภายหลังถูกส่งตัวถวายแด่พระไชยเชษฐาแห่งอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งระหว่างการเดินทางถึงชายแดนสยามประเทศพระนางถูกพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์แห่งพม่าทำการชิงตัวไปยังกรุงหงสาวดี
ในพ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีการก่อสร้าง พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยไท ที่บริเวณทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นพระอนุสาวรีย์ประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระสุริโยไท

พระวีรกรรม

ดูบทความหลักที่ สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้
ความเป็นมาของสงครามระหว่างไทยกับพม่าในครั้งนั้น มีเหตุการณ์สืบเนื่องมาจากพระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ ได้รู้ข่าวกรุงศรีอยุธยาเกิดเหตุวุ่นวาย เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช เกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างสมเด็จพระยอดฟ้า พระราชโอรส และขุนวรวงศาธิราช และอัญเชิญพระราชอนุชาต่างพระชนนีในสมเด็จพระไชยราชาธิราชขึ้นเสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

เมื่อกองทัพพระเจ้ากรุงหงสาวดียกมาถึงกรุงศรีอยุธยา แล้วกองทัพกรุงศรีอยุธยาได้ยกออกไป กองทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งมีสมเด็จพระสุริโยทัย พระอัครมเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ เสด็จมาในทัพด้วยนี้ ได้ปะทะกับกองทัพพระเจ้าแปร ซึ่งเป็นทัพหน้าของพระเจ้ากรุงหงสาวดี ได้ทรงเข้าชนช้างกัน ความในพงศาวดารไทยรบพม่าพรรณนาไว้ว่า

“...ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียที สมเด็จพระสุริโยไทเกรงพระราชสวามีจะเป็นอันตราย จึงขับช้างทรงเข้าขวางช้างข้าศึกไว้ พระเจ้าแปรได้ทีฟันสมเด็จพระสุริโยไท ด้วยสำคัญว่าเป็นชายสิ้นพระชนม์ซบลงกับคอช้าง…”

การสู้รบหลังจากสมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์แล้ว พระราเมศวรกับพระมหินทราธิราชพระราชโอรส ทรงขับช้างเข้าต่อสู้กับพระเจ้าแปรและกันพระศพสมเด็จพระราชชนนีกลับเข้าพระนคร โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญประดิษฐานไว้ในสวนหลวงเป็นการชั่วคราว จนเมื่อกองทัพพระเจ้าหงสาวดีได้ข่าวว่า กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย อันมีสมเด็จพระมหาธรรมราชา นำกำลังยกลงมาช่วยกรุงศรีอยุธยา ประจวบกับเสบียงอาหารเริ่มขาดแคลนลง จึงเลิกทัพกลับไปกรุงหงสาวดี ส่วนการพระศพสมเด็จพระสุริโยไทนั้นเมื่อเสร็จศึกสงครามแล้วโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีพระราชทานเพลิง ณ สวนหลวง และให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงเป็นพระอารามเพื่ออุทิศ พระราชกุศลพระราชทาน แด่สมเด็จพระอัครมเหสี ประกอบด้วยพระเจดีย์ พระวิหาร แล้วพระราชทานนามพระอารามอันเป็นพระราชานุสรณ์แห่งสมเด็จพระสุริโยไทแห่งนี้ว่า วัดสบสวรรค์ ในปัจจุบันชื่อ วัดสวนหลวงสบสวรรค์

4 ความคิดเห็น: